สถานที่ท่องเที่ยว
วัดพระเจ้าล้านทอง
วัดพระเจ้าล้านทอง
วัดพระเจ้าล้านทองที่ตั้ง : 1 หมู่ 1 บ้านหนองปลามัน ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (ห่างจากที่ว่าการอำเภอพร้าวไปทางทิศตะวันตกประมาณ 4 กิโลเมตร)
การฟื้นฟูวัดพระเจ้าล้านทองในระยะแรก (ระหว่างปี พ.ศ. 2450 - 2472) เมื่อปี พ.ศ. 2450 มีดาบสนุ่งขาวห่มขาว เป็นคนเชื้อชาติลาวนามว่า “ปู่กาเลยังยัง” ได้เดินทางมาสำรวจเมืองร้าง และพบพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง ถูกควันไฟป่ารมจนดำสนิทบนฐานอิฐเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม จึงได้ทำการซ่อมแซมฐานพระพุทธรูปใหม่ ด้วยอิฐเก่าที่หาได้ในบริเวณนั้นและสร้างเพิงไม้ชั่วคราวด้วยเสาสี่ต้นมุงด้วยหญ้าคาเพื่อกันแดด กันฝน แต่เนื่องจากขาดการดูแลเพิงไม้จึงถูกไฟป่าเผาไหม้จนหมด ปี พ.ศ. 2459 ครูบาอินตา สาธร เจ้าอาวาสวัดหนองปลามัน ได้สร้างวิหารไม้ขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปให้เป็นที่มั่นคง และได้นำศรัทธาประชาชนบ้านหนองปลามันพร้อมทั้งศรัทธาหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง เป็นประเพณียึดถือสืบกันมา การฟื้นฟูวัดพระเจ้าล้านทองในระยะที่สอง (ระหว่างปี พ.ศ. 2512 – 2534) ในปี พ.ศ. 2512 ครูบาอินถา สุขะวัฒฑะโก (พระครูพุทธามหาคณาภิบาล) วัดพุทธสันติปังกร อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้เป็นประธานก่อสร้างพระวิหารแบบจัตุรมุข และเมื่อพระวิหารก่อสร้างได้ประมาณ 80% ครูบาอิน-ถาพร้อมด้วยพระสงฆ์ศรัทธาประชาชน ได้ทำพิธีย้ายองค์พระพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง จากวิหารไม้หลังเดิมซึ่งเก่าและทรุดโทรมประดิษฐานในวิหารจัตุรมุข พร้อมกันได้สร้างพระเจดีย์มหาพุทธาภิบาลขึ้นมา และได้จัดพิธีสรงน้ำองค์พระพุทธรูปและเจดีย์ขึ้นมาอีกครั้ง จนเป็นประเพณีที่สำคัญในอำเภอพร้าว
การฟื้นฟูวัดพระเจ้าล้านทองในระยะที่สาม (ระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2544) เนื่องจากวัดพระเจ้าล้านทองไม่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่เลย เจ้าอาวาสวัดหนองปลามันจึงได้มอบหมายให้พระภิกษุในวัดเป็นผู้ดูแลตลอดมา ในปี พ.ศ. 2534 ครูบาบุญชุ่ม ญาณะสังวะโร วัดพระธาตุดอนเรือง อ.ท่าขี้เหล็ก สหภาพเชียงตุง ประเทศพม่า พร้อมด้วยคณะศิษย์ศรัทธาได้บริจาคทรัพย์ในการบูรณะวิหารจตุรมุข เมื่อปี พ.ศ. 2535 พระครูประสิทธิ์พุทธิศาสตร์ เจ้าคณะอำเภอพร้าว เจ้าอาวาสวัดกลางเวียงรักษาการแทนเจ้าอาวาสพระเจ้าล้านทอง เป็นประธานฝ่ายบรรพชิต พร้อมด้วยนายอุดมพร คชหิรัญ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และข้าราชการ ประชาชนในอำเภอพร้าว ได้ร่วมกันปลูกต้นสักและพัฒนาบริเวณรอบวัด เพื่อให้ วัดพระเจ้าล้านทองเป็นปูชนียสถานที่สำคัญในอำเภอพร้าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2537 พระสถาพร สุเมธี ได้รับการแต่งตั้งจาก เจ้าอธิการบรรจง ปิยะปุตโต เจ้าคณะตำบลน้ำแพร่ (ปัจจุบัน ดำรงสมณศักดิ์ พระครูปิยกิจจาภรณ์) โดยความเห็นชอบของเจ้าคณะอำเภอ เป็นผู้รักษาราชการแทนเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าล้านทอง
ในปี พ.ศ. 2540 ครูบาบุญชุ่ม ญาณะสังวะโร ได้ทำการปิดทององค์พระพุทธรูปพระเจ้าล้านทองบูรณะเจดีย์ขึ้นมาใหม่ แทนเจดีย์มหาพุทธาภิบาลองค์เดิมที่ทรุดตัวลง ในปี พ.ศ. 2542 พระสถาพร สุเมธี ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ทำหนังสือถึงกรมศาสนา (ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่) เพื่อขอขึ้นทะเบียนยกฐานะจากวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาตลอด (อ้างอิงจาก หนังสือประวัติศาสตร์เมืองพร้าว โดยท่านพระครูโสภณกิติญาณ) ปัจจุบันวัดพระเจ้าล้านทองมีปูชนียสถานภายในวัดที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้ สักการบูชา และสถานที่น่าสนใจ ดังนี้
- พระเจ้าล้านทอง
- พระเจ้าแสนทอง
- ซุ้มประตูเมืองพร้าววังหิน ที่มีลักษณะเป็นซุ้มประตูไม้สีน้ำตาลที่คล้ายกับป้อมปราการป้องกันข้าศึก ในสมัยโบราณ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2562 จากความฝันของพระอธิการดวงเดช วิจิตฺตธมุโม (ขุน เดช) เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าล้านทององค์ปัจจุบันที่ฝันเห็นซุ้มประตูติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน
- พระวิหารแบบจัตุรมุข ซึ่งมีลักษณะเป็นมณฑปจตุรมุขวิหาร เป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ ตกแต่ง ด้วยลวดลายปูนปั้นศิลปะล้านนา เป็นวิหารปิดแบบล้านนาโครงสร้างวิหารมีการสร้างผนังด้านข้างทั้ง 4 ด้าน มีประตูเข้า-ออกและช่องแสงทั้ง 4 ด้าน ซึ่งมีความโดดเด่นและสวยงาม
- ไม้แม่ตะเคียนเก่าแก่ ที่ชาวบ้านให้นิยมมาบูชาและขอโชคลาภจากเจ้าแม่ตะเคียน
- พระเจดีย์มหาพุทธาภิบาล
- พระบรมราชานุเสาวรีย์พญามังรายมหาราช ฤดูกาลท่องเที่ยว สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี (ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ) ทางวัดจะมีประเพณีทำบุญสรงน้ำพระเจ้าล้านทองและพระเจดีย์มหาพุทธาภิบาล สิ่งอำนวยความสะดวก
- ลานจอดรถ
- ห้องน้ำแยกชาย หญิง พระภิกษุ - ศาลาประชาสัมพันธ์- ที่พักใกล้เคียง
- พร้าว แคมป์ปิ้ง วิลเลจ (PHRAO Camping Village)
- วันชนะวิว (WanchanaView)- ร้านค้า/ร้านอาหารใกล้เคียง
- ร้านขนมจีนแม่เอ้ย (จำหน่าย: ขนมจีนน้ำเงี้ยว ส้มตำ ไก่ย่าง เครื่องดื่ม กล้วยทอด)
- ร้านก๋วยเตี๋ยวป้าเพ็ญ (สันขวาง)
แผนที่การเดินทาง